เป็นการชักชวนให้หันมาสนใจหรือเปลี่ยนทัศนคติตามที่ต้องการ โดยทั่วไปนิยมใช้สื่อมวลชน เนื่องจากสามารถเข้าถึงได้กว้างขวางและกำหนดความถี่เพื่อย้ำได้ตามที่ต้องการ - การให้ประสบการณ์ (Experience) การให้ประสบการณ์โดยตรงนั้นเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่ดีในการสร้างทัศนคติใหม่ให้เกิดกับบุคคล เช่น ต้องการให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการสูบบุหรี่ ก็ให้ไปเห็นบุคคลที่ป่วยเป็นโรคต่าง ๆ จากการสูบบุหรี่ เป็นต้น
การสร้างสิ่งดึงดูดใจระหว่างบุคคล (Interpersonal Attraction)
การอยู่ร่วมกันของบุคคลในสังคมอย่างมีความสุขนั้น จำเป็นที่จะต้องสร้างไมตรีจิตให้เกิดขึ้นระหว่างกัน นักจิตวิทยาสังคมจึงได้ค้นพบปัจจัยที่ช่วยในรดึงดูดให้บุคคลมีความต้องการที่จะสร้างสัมพันธ์อันดีต่อกันหลายประการ ดังนี้
1. คุณลักษณะของบุคคล (Personal Trait)
หมายถึง ลักษณะเฉพาะของแต่ละบุคคลที่สามารถสร้างแรงดึงดูดใจให้บุคคลอื่นตวามความต้องการที่จะสร้างสัมพันธ์ด้วย ได้แก่
- คุณลักษณะทางร่างกาย เป็นคุณลักษณะที่ดึงดูดใจเป็นอันดับแรก ด้วยเหตุที่ว่ารูปร่างหน้าตาดีย่อมเป็นที่สะดุดตา อีกทั้งยังสร้างความพึงพอใจให้แก่ผู้พบเห็นอีกด้วย แต่ทั้งนี้จะใช้รูปร่างหน้าตาอย่างเดียวในการตัดสินใจก็อาจเกิดความผิดพลาดได้ง่ายเช่นกัน
- การใช้ภาษาและท่วงทีวาจา การพูดที่อ่อนหวาน ไพเราะ ใช้ภาษาได้ถุกต้องถือว่าเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งในการดึงดูดใจให้บุคคลอยากจะเข้าใกล้และสร้างสัมพันธ์ด้วย
- ความสามารถในตัวบุคคล หากบุคคลที่มีความสามารถพิเศษในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเหนือกว่าบุคคลธรรมดาทั่วไป ก็ย่อมได้รับความสนใจจากบุคคลรอบข้างได้ง่าย และอยากทำความรู้จักคบหาด้วย
2. ความใกล้ชิด (Proximity)
ปัจจัยที่ทำให้บุคคลเกิดความพึงพอใจได้นั้นคือการใกล้ชิดกัน ไม่ว่าจะโดยเหตุบังเอิญหรือโดยหน้าที่การงานก็ตาม ซึ่งความใกล้ชิดจะไม่มีผลต่อความสัมพันธ์เลยหากบุคคลนั้น ๆ เคยมีปัญหาต่อกันมาก่อน โดยทั่วไปแล้วในการพบกันครั้งแรกของบุคคลมักจะมีปฏิกิริยากลาง ๆ ค่อนไปทางพึงพอใจมากกว่า
3. ความคุ้นเคย (Familiarity)
เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากเมื่อบุคคลเกิดความใกล้ชิดแล้ว ความคุ้นเคยจะเป็นสภาวะของความแนบแน่นในการเกิดความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลไปในลักษณะที่ต่อเนื่อง บุคคลที่เกิดความคุ้นเคยแล้วมักจะแสดงตัวตนและอารมณ์อย่างเปิดเผยเป็นอิสระ และมักไม่คำนึงถึงระเบียบกฎเกณฑ์ระหว่างกันมากนัก
4. ความคล้ายคลึง (Similarity)
โดยธรรมชาติของมนุษย์นั้นมักจะชอบบุคคลที่มีลักษณะใกล้เคียงหรือคล้ายคลึงกับตนในทางใดทางหนึ่ง ดังนั้น หากบุคคลที่มีทัศนคติคล้ายคลึงกันมากเท่าใด ก็จะเกิดความดึงดูดใจมากขึ้นเท่านั้นด้วย
5. ความแตกต่างที่ลงตัว (Complementary)
ในบางกรณีความแตกต่างก็สามารถมีส่วนดึงดดูดใจให้บุคคลเกิดความพึงพอใจได้เหมือนกัน เช่น คนช่างพูดมักจะชอบเลือกคบคนที่ชอบฟังมากกว่าพูด หรือคนที่ชอบเป็นผู้นำมักจะเลือกคบกันคนที่ชอบเป็นผู้ตาม เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม ความต่างของบุคคลนั้นก็ยังมีระดับการสร้างแรงดึงดูดไม่เท่ากับความคล้ายคลึงกันของบุคคล
6. ความพึงพอใจจากสิ่งที่ได้รับ (Rewardingness)
บุคคลที่สร้างความพึงพอใจแก่บุคคลอื่นได้มากเท่าไร ย่อมสร้างแรงดึงดูดใจให้บุคคลต้องการมีสัมพันธภาพมากขึ้นเท่านั้น ทั้งนี้เนื่องจากบุคคลที่ได้รับความพึงพอใจจะมีความรู้สึกว่า ตนเองเป็นผู้ที่มีคุณค่าและความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับผู้ให้
อิทธิพลของสังคมที่มีต่อพฤติกรรมทางสังคมของบุคคล
ลักษณะพฤติกรรมทางสังคมที่เกิดขึ้นนั้น ถ้าหากพิจารณาให้ดีแล้วจะพบว่าสังคมที่บุคคลเป็นสมาชิกนั้นมีส่วนในการสร้างอิทธิพลต่อความรู้สึกนึกคิดและพฤติกรรมของสมาชิกในสังคมแต่ละคนด้วย ซึ่งอิทธิพลของสังคมที่มีผลต่อการแสดงพฤติกรรมทางสังคมของบุคคลที่สำคัญ ๆ ในที่นี้ ได้แก่
1. การคล้อยตาม (Conformity)
การคล้อยตามเป็นแนวโน้มที่บุคคลจะทำตามบุคลอื่น เกิดขึ้นในกรณีที่บุคคลไม่สามารถตัดสินใจในการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งลงไปได้ ปัจจัยที่ก่อให้เกิดการคล้อยตาม ได้แก่
- ความคลุมเครือของสถานการณ์
หากสถานการณ์หรือเหตุการณ์ที่บุคคลกำลังประสบอยู่นั้น มีความคลุมเครือและไม่ชัดเจนมากเท่าใด ยิ่งส่งผลให้บุคคลเกิดความลังเลไม่แน่ใจในสิ่งที่ตนเองจะตัดสินใจกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งลงไป จึงทำการแสวงหาแนวปฏิบัติจากคนส่วนใหญ่หรือใช้บรรทัดฐาน (Norm) ทางสังคมเป็นเครื่องช่วย
ทั้งนี้นักจิตวิทยาสังคมชื่อ โซโลมอน แอช (Solomon Asch) ได้ทำการทดลองเกี่ยวกับเรื่องความคลุมเครือของสถานการณ์ โดยให้ผู้เข้ารับการทดลองนั่งรวมกับคนอื่นซึ่งผู้ทดลองได้เตรียมคำตอบกันไว้แล้วประมาณ 7-9 คน โดยทุกคนในกลุ่มจะได้เห็นเส้นตรงแนวดิ่งที่มีความยาวไม่เท่ากัน 3 เส้น ส่วนอีกหนึ่งเส้นจะใช้เป็นเส้นเพื่อเปรียบเทียบ จากนั้นให้สมาชิกแต่ละคนตอบว่าเส้น
ตรงแนวดิ่ง 3 เส้นนี้เส้นใดมีความยาวใกล้เคียงกับเส้นมาตรฐานมากที่สุด โดยกำหนดให้บุคคลที่เข้ารบการทดลองเป็นคนตอบคนสุดท้าย ผลปรากฏว่า 37 เปอร์เซนต์ในจำนวน 123 คน ยอมที่จะตอบผิดตามกลุ่มบุคคลที่แอชได้เตรียมคำตอบไว้ จากการทดลองของแอชนั้นจึงสรุปได้ว่า ถึงแม้สถานการณ์จะมีคำตอบที่ชัดเจนไม่คลุมเครือก็ตาม แต่บุคคลก็ยังคล้อยตามคนส่วนใหญ่ ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าไม่ถูกต้อง ทั้งนี้เพื่อให้ตนได้รับการยอมรับจากสังคมเท่านั้น
- ความเชื่อมั่นในตนเอง
จากการทดลองของแอชข้างต้นนั้น ยังพบอีกว่า ความเชื่อมั่นในตนเองมีผลต่อการคล้อยตามของบุคลด้วย กล่าวคือ บุคคลที่มีความเชื่อมั่นในตนเองสูงจะตัดสินใจจากความคิดและเหตุผลของตัวเองมากกว่าคล้อยตามความคิดเห็นของกลุ่ม ส่วนคนที่ไม่เชื่อมั่นในตนเองจะคล้อยตามกลุ่มได้ง่าย
- สัมพันธภาพระหว่างบุคคลภายในกลุ่ม
กลุ่มใดก็ตามที่สมาชิกภายในกลุ่มมีความรักใคร่สนิทสนมกันอย่างแน้นแฟ้น หรือมีสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน จะเกิดความคล้อยตามกันได้ง่ายกว่ากลุ่มที่มีความไม่ลงรอยกันภายในกลุ่ม
3/4
|